วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วัจนลีลา กับ ทำเนียบภาษา
วัจนลีลา หมายถึงรูปแบบหรือลักษณะของวิธภาษาที่ใช้  ซึ่งแตกต่างจากการใช้แบบอื่นโดยปริบทหรือสถานการณ์การใช้ภาษา
ทำเนียบภาษา เป็นคำกลางๆ  หมายถึง ชนิดหรือประเภทของวิธภาษาหน้าที่  เช่นภาษากฎหมาย  ภาษาโฆษณา ภาษาวิชาการ
เราอาจกล่าวได้ว่า ทำเนียบภาษาต่างๆ มีวัจนลีลาที่ต่างกันไป  ทำเนียบภาษามีกี่ประเภทก็ได้แล้วแต่เกณฑ์ที่จะใช้แบ่ง  ส่วนการจำแนกภาษาเป็นวัจลีลา  เป็นการมองภาษาจากมุมมองของรูปแบบทางภาษาซึ่งแตกต่างกันไปตามปัจจัยการใช้ในสังคม
วัจนลีลาระดับต่างๆ
            แบ่งแบบกว้าง ๆ  ได้เป็น ๒ ระดับ คือ วัจนลีลาเป็นทางการ (ระดับสูง)  และวัจนลีลาแบบไม่เป็นทางการ (ระดับต่ำ)
                ๑. วัจนลีลาแบบเป็นทางการ  คือรูปแบบของภาษาที่มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน เช่น การออกเสียงเต็มคำ ไม่ละคำ  การใช้คำก็ไม่มีคำสแลงหรือคำย่อ   รูปแบบภาษาเช่นนี้ใช้ในพิธีการ เช่นการกล่าวสุนทรพจน์ หรือใช้พูดกับบุคคลที่สูงกว่าผู้พูด ใช้พูดเรื่องจริงจัง
                ๒. วัจนลีลาแบบไม่เป็นทางการ ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่มีพิธีการ  ใช้พูดกับคำที่สนิทหรือต่ำกว่าผู้พูด พูดเรื่องไม่จริงจัง
                การแบ่งประเภทของภาษาโดยเบอร์นสไตน์  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ   ภาษาสาธารณะ (public language) ซึ่งต่อมาเรียกว่ารหัสกำกัด (restricted code)  และภาษาทางการ (formal language) ซึ่งต่อมาเรียกว่ารหัสซับซ้อน (elaborated code)
                รหัสซับซ้อน คือ ภาษาที่ใช้ในสถานการณ์เป็นทางการ  เช่น การโต้วาที  การอภิปรายทางวิชาการ เบอร์นสไตน์สรุปลักษณะของรหัสซับซ้อนไว้ว่ามีลักษณะดังนี้คือ ๑) การเรียงคำในประโยคเป็นไปตามหลักไวยากรณ์ ๒) มักใช้ประโยคซับซ้อนที่มีสันธานและคำเชื่อม ๓) ใช้คำบุพบทมาก ๔) ใช้คำสรรพนามไม่เฉพาะเจาะจง เช่น it ๕) ใช้คำคุณสรรพและคำวิเศษณ์มาก และ ๖) มักใช้กริยากรรมกาจก
                รหัสกำกัด คือภาษาที่ใช้ในสถานการณ์ไม่เป็นทางการ ในครอบครัว เพื่อนฝูง ทำให้ผู้พูดรู้สึกเป็นสมาชิกในกลุ่ม ลักษณะสำคัญทางภาษาของรหัสกำกัดคือ ๑) ใช้ประโยคเรียบง่าย ไม่เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ ๒) ใช้สันธานแบบเรียบง่ายและซ้ำๆ ๓) มักไม่ใช้อนุประโยคขยายความ ๔) ไม่พูดเรื่องเดียวกันติดต่อกัน ๕) ใช้คำคุณศัพท์และวิเศษณ์จำนวนน้อย ๖)  ใช้คำสรรพนามไม่เฉพาะเจาะจงน้อย และ ๗) มักใช้คำพูดเพื่อเน้น 
                การศึกษาของเบอร์นไตน์ทำให้สรุปได้ว่าการแบ่งเป็นภาษาเป็นวัจนลีลาทำได้และเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าเบอร์นไตน์จะผูกความคิดเรื่องรหัสทั้ง ๒ ประเภท ของเขากับชั้นสังคม แต่ลักษณะความแตกต่างระหว่างรหัสทั้ง ๒ ประเภทที่เขาได้ชี้ให้เห็นก็ได้กระตุ้นให้เราหันมาสนใจความแตกต่างในแง่วัจนลีลามากขึ้น
                นิวแมน (Newman 1964)  ศึกษาภาษซูนี  สังเกตเห็นการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดในภาษาซูนี ๒ ระดับ คือ การใช้ระดับศักดิ์สิทธิ์  (scared usage) และ การใช้ระดับสแลง  (slang usage)
                มาร์ติน โจส (Joos 1961)  กล่าวถึงเรื่องวัจนลีลาไว้หนังสือเรื่อง The Five Clocks  เขาแบ่งภาษาอังกฤษตามการใช้ออกเป็น ๕ ระดับ

                อายุ              วัจนลีลา                 ความกว้างของ           ความรับผิดชอบ
                                                              ประสบการณ์ทางภาษา
               
๑.            วัยชรา                    ตายตัว                   ผู้ดี                           ดีที่สุด
๒.            วัยผู้ใหญ่                เป็นทางการ           พิถีพิถัน                  ดีมาก
๓.            วัยรุ่น                      หารือ                      มาตรฐาน                 ดี
๔.            วัยเด็ก                    เป็นกันเอง              ภูมิภาค                   พอใช้
๕.           วัยทารก                  สนิทสนม                ชาวบ้าน                 เลว

                โจสได้สรุปเรื่องการใช้ภาษาว่า  ถึงแม้จะจัดระดับได้ว่าอะไรดีที่สุด ระดับใดเลวที่สุด แต่ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชุมชนไปตั้งบรรทัดฐานเอง และกำหนดว่าภาษาแบบใดดีแบบใดเลว การใช้จริงๆ ไม่มีอะไรดีหรือเลว
                วัจนลีลาทั้ง ๕ ระดับมีหน้าที่แตกต่างกัน และมีลักษณะทางภาษาที่แตกต่างกันดังนี้
๑.                  วัจนลีลาตายตัว เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้โดยความระมัดระวังมากที่สุด ใช้ในโอกาสที่สำคัญมากๆ  ปกติไม่ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน  ใช้ในวรรณกรรมชั้นสูงและพิธีการ ลักษณะทางภาษาคือ อลังการ ใช้ถ้อยคำหรูหรา ประดับประดาด้วยถ้อยคำไพเราะ ซึ่งชาวบ้านอาจไม่เข้าใจความหมาย รูปแบบตายตัว ดิ้นไม่ได้
๒.                  วัจนลีลาเป็นทางการ  เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้ในสถานการณ์ที่สำคัญ เป็นวิธภาษาที่สุภาพ  ลักษณะสำคัญคือ การแสดงการแยกตัของผู้พูดวออกจากผู้ฟัง (detachment) และ การเชื่อมโยงความ  (cohesion)  วัจนลีลาแบบนี้ไม่เป็นธรรมชาติ มีการแก้ไขและเตรียมการอย่างดี  ออกเสียงพยัญชนะสระชัดเจน ไม่ลดรูปไม่ใช้คำย่อ  ใช้ประโยคที่ผูกติดกันอย่างกระชับ ไม่พูดซ้ำ และมีศัพท์เฉพาะสาขา
๓.                  วัจนลีลาหารือ เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการติดต่อธุรกิจ  อนุญาตให้ผู้ฟังเข้ามามีส่วน มีการโต้ตอบกัน  การออกเสียงไม่ชัดเจน สมบูรณ์และระมัดระวังเท่าแบบเป็นทางการ มีการใช้คำย่อ ไวยากรณ์หลวมกว่า และประโยคไม่ซับซ้อนเท่า คำศัพท์ก็เป็นคำศัพท์ทั่วๆไป ถือเป็นวิธภาษาที่เป็นกลางที่สุด ไม่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป  ไม่เป็นทางการและเป็นกันเองจนเกินไป
๔.                  วัจนลีลาเป็นกันเอง เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้กับเพื่อนสนิท คนที่รู้จักคุ้นเคย คนในวงการเดียวกัน ในสถานการณ์สบายๆ  ผู้พูดไม่ต้องระวังตัว ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ  มีการออกเสียงที่ไม่สมบูรณ์ชัดเจน พูดเร็วรัว และละคำ ใช้ประโยคเรียบง่ายไม่สมบูรณ์ และใช้คำศัพท์สแลง เนื่องจากมีความหลากหลาย จึงเป็นวัจนลีลาที่มีการแปรทางด้านภาษาย่อยมาก
๕.                  วัจนลีลาสนิทสนม เป็นรูปแบบภาษาที่ใช้ในครอบครัวและกับบุคคลที่ผู้พูดสนิทด้วยอย่างมาก   มีลักษณะคล้ายวัจนลีลาเป็นกันเอง แต่ต่างตรงที่มีการละคำพูดไว้ในฐานที่เข้าใจมากกว่า มีการใช้อวัจนภาษาประกอบมากว่าวัจนภาษาแบบอื่นๆ   และมีการใช้ศัพท์เฉพาะกลุ่ม jargon หรือ  cant
โดยปกติแล้วเจ้าของภาษาสามารถเลือกใช้วัจนลีลาทั้ง ๕ นี้ได้อย่างเกมาะสมกับสถาการณ์และปริบท ในขณะที่ผู้ไม่ใช่เจ้าของภาษาจะทำได้ยาก แม้จะมีสอนอยู่ในตำรา แต่ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

งานวิจัยที่เกี่ยวกับวัจนลีลา
            ลาบอฟ (1972: 99) แบ่งวัจนลีลาออกเป็น ๕ ประเภทคือ  แบบเป็นกันเอง  (casual)  แบบระมัดระวัง (careful) แบบการอ่านเรื่อง (passage reading)  แบบการอ่านเป็นคำๆ (word list) และ แบบการอ่านคำคู่เทียบเสียง (minimal pairs) ลาบอฟนำเรื่องวัจนลีลาเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องการออกเสียง เช่น การออกเสียง (r) ของพนักงานขายของในห้างในนิวยอร์ค
                คำว่าวัจนลีลาของลาบอฟ หมายถึง แบบหรือประเภทของการใช้ภาษา  และเกณฑ์ที่ทำให้ภาษาเป็นทางการหรือไม่ คือความตั้งใจหรือความจงใจในการใช้ภาษา  วัจนลีลาที่ยิ่งเป็นทางการหรือยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ผู้พูดจะยิ่งใช้รูปแปรที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้น
                แนวทางศึกษาการแปรของภาษาตามวัจนลีลาแบบลาบอฟมีผู้นำไปศึกษาอีกหลายคน เช่น ทรัดกิลล์ (Trudgill 1974b) ศึกษาการแปรของ (ng)  ในประเทศอังกฤษ  แสงจันทร์  ตรียกูล (๒๕๒๙)  ศึกษาการแปรทางวัจนลีลาของการออกเสียง ร และ ล ในภาษาไทยกรุงเทพฯ ของผู้ประกาศข่าว

การจำแนกประเภทวัจนลีลาในภาษาไทย
๑.                  วัจนลีลาตายตัว  ในภาษาไทยหมายถึงรูปแบบของภาษาที่ใช้พูดกับบุคลที่เป็นที่เคารพสูงสุด เช่น ราชาศัพท์  ภาษาที่ใช้เรียกขานในศาล ในที่ประชุมรัฐสภา ภาษาที่ใช้กล่าวในพิธีการต่างๆ
๒.                  วัจนลีลาเป็นทางการ  คือรูปแบบของภาษาที่ใช้ในโอกาสสำคัญและใช้พูดกับบุคคลที่สูงกว่า แต่ไม่ตายตัวเหมือนวัจนลีลาตายตัว  เช่น ภาษาที่ใช้เขียนบทความ เอกสารทางราชการ รายงานการประชุมภาษาที่ใช้กล่าวสุนทรพจน์ เป็นต้น
๓.      วัจนลีลาหารือ เป็นวิธภาษาที่ใช้ในการสนทนาติดต่อทางอาชีพ  ใช้ในชีวิตประจำวัน
๔.      วัจนลีลาเป็นกันเอง  เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้พูดโดยไม่ระมัดระวัง  พูดกับเพื่อน หรือคนที่คุ้นเคย
๕.                  วัจนลีลาสนิทสนม ในภาษาไทยอาจจะยากให้แตกต่างจากแบบเป็นกันเอง  แต่ให้พิจารณาว่ามีการละคำมากกว่า และมีการใช้คำย่อที่คนอยู่นอกกลุ่มไม่เข้าใจ ใช้กับคนสนิท ผู้ฟังต้องเข้าใจปริบทร่วมกับผู้พูด